(แฟ้มภาพซินหัว : สถานีพลังงานแสงอาทิตย์ในเมืองฮามี่ เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน วันที่ 8 ก.ย. 2024)
ปักกิ่ง, 20 เม.ย. (ซินหัว) -- คณะนักวิทยาศาสตร์ของจีนพัฒนาเครื่องมือพยากรณ์รุ่นใหม่ที่ชื่อ "ไอดัสต์" (iDust) ที่ยกระดับการพยากรณ์พายุฝุ่นทราย ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเครื่องมือนี้จัดการความท้าทายสำคัญของพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะภูมิภาคทะเลทราย ซึ่งฝุ่นทรายอาจลดประสิทธิภาพของแผงโซลาร์เซลล์
วารสารความก้าวหน้าของระบบแบบจำลองโลก (Journal of Advances in Modeling Earth Systems) เผยแพร่ผลการวิจัยที่นำโดยคณะนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันฟิสิกส์บรรยากาศ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน โดยเฉินซี นักวิจัยคนหนึ่ง เผยว่าพายุฝุ่นทรายไม่เพียงบดบังแสงอาทิตย์ แต่ยังสะสมอยู่บนแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งลดผลผลิตพลังงาน
การพยากรณ์พายุฝุ่นทรายที่แม่นยำนั้นสำคัญต่อการลดอุปสรรคและความเสียหายทางการเงิน ขณะจีนขยายโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ดินทรายแห้งแล้ง โดยโมเดลการพยากรณ์ที่มีอยู่ เช่น จากศูนย์พยากรณ์สภาพภูมิอากาศระยะกลางของยุโรป (ECMWF) เผชิญข้อจำกัดหลายประการในแง่ความละเอียดและความเร็ว
ระบบไอดัสต์มอบการพยากรณ์ที่ละเอียดสูงขึ้นและใช้พลังการประมวลผลมากกว่าโมเดลสภาพภูมิอากาศมาตรฐานเพียงเล็กน้อย โดยระบบนี้สามารถพยากรณ์ฝุ่นระยะ 10 วันภายใน 6 ชั่วโมงหลังจากรวบรวมข้อมูลสังเกตการณ์ ซึ่งเป็นพัฒนาการที่กว่าโมเดลของศูนย์พยากรณ์ของยุโรปที่ใช้เวลานานกว่าและพยากรณ์ได้ละเอียดน้อยกว่า
เฉินเสริมว่าระบบไอดัสต์จะช่วยฟาร์มโซลาร์เซลล์และผู้ดำเนินงานโครงข่ายไฟฟ้าเตรียมพร้อมรับมือกับอุปสรรคจากพายุฝุ่นทรายได้ดีขึ้น ยกระดับประสิทธิภาพ และลดต้นทุน โดยเครื่องมืออย่างไอดัสต์จะมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบพลังงานหมุนเวียน ขณะจีนมุ่งบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน
ทั้งนี้ การพัฒนาในอนาคตจะมุ่งขยายการประยุกต์ใช้ระบบไอดัสต์ทั่วโลก เพื่อสนับสนุนความพยายามด้านพลังงานที่ยั่งยืนทั่วโลก